แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ดีอย่างไร รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้

by GMS Solar

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนได้ออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี 1991 ซึ่งหลังจากนั้นก็ถูกพัฒนาเรื่อยมา และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเป็นแบตเตอรี่ชนิดที่ถูกใช้มากที่สุด ครอบคลุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายประเภท เช่น มือถือ แท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ค เครื่องใช้ไฟฟ้าพกพา ยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่อย่าง BESS

ด้วยความสำคัญของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนนี่เอง การเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ตั้งแต่นิยามว่าคืออะไร ชนิด ส่วนประกอบ หลักการทำงาน ข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด อายุการใช้งาน ความปลอดภัย ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจสำหรับทุกๆ คนที่เกี่ยวข้อง

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium-Ion Battery) คือแบตเตอรี่แบบชาร์จได้ที่อาศัยการเคลื่อนย้ายของไอออนลิเธียมระหว่างขั้วแคโทด (ขั้วบวก) และแอโนด (ขั้วลบ) เพื่อกักเก็บและจ่ายพลังงาน ด้วยจุดเด่นของลิเธียมที่มีน้ำหนักโมเลกุลน้อยและมีขนาดเล็ก เมื่อนำมาใช้ในแบตเตอรี่จึงทำให้มีความหนาแน่นของพลังงานสูง สามารถกักเก็บพลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ เมื่อเทียบที่น้ำหนักและปริมาตรเท่ากัน จึงเป็นที่มาของความแพร่หลายที่เห็นกันในปัจจุบันนั่นเอง

ส่วนประกอบของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะมีส่วนประกอบหลักที่เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ แคโทด แอโนด และอิเล็กโทรไลต์

  • แคโทด (Cathode) คือขั้วบวกของแบตเตอรี่ มักทำมาจากสารประกอบจำพวกนิกเกิล แมงกานีส หรือโคบอลต์ออกไซด์ รวมถึงไอออนฟอสเฟต เป็นจุดที่จะเกิดปฏิกิริยารีดักชั่น (รับอิเล็กตรอน) ซึ่งก็คือเมื่อแบตเตอรี่ถูกชาร์จ ไอออนลิเธียมที่อยู่ในขั้วแคโทดก็จะได้รับอิเล็กตรอนและเคลื่อนย้ายไปยังขั้วแอโนด วัสดุของขั้วแคโทดที่ดีจะต้องสามารถกักเก็บพลังงานได้มากและมีแรงดันไฟฟ้าสูง แต่ต้องยังอยู่ภายในช่วงที่เหมาะสมสำหรับอิเล็กโทรไลต์
  • แอโนด (Anode) คือขั้วลบของแบตเตอรี่ มักทำมาจากแกรไฟต์ เป็นจุดที่จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (สูญเสียอิเล็กตรอน) ซึ่งก็คือเมื่อแบตเตอรี่ถูกใช้งาน ไอออนลิเธียมที่อยู่ในขั้วแอโนดก็จะสูญเสียอิเล็กตรอนและเคลื่อนย้ายไปยังขั้วแคโทด วัสดุของขั้วแอโนดที่ดีจะต้องสามารถกักเก็บพลังงานได้มากและมีแรงดันไฟฟ้าต่ำ
  • อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) คือสารตัวกลางที่ช่วยให้ไอออนลิเธียมสามารถเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างขั้วแคโทดและแอโนดได้ โดยอิเล็กโทรไลต์ที่ดีจะต้องมีช่วงแรงดันไฟฟ้าที่เสถียร ทนความร้อนได้ดี และสามารถนำไฟฟ้าได้ แบตเตอรี่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะใช้อิเล็กโทรไลต์เป็นสารละลายจำพวกคาร์บอเนต แต่ก็มีแบตเตอรี่บางรูปแบบที่ใช้อิเล็กโทรไลต์ในสถานะของแข็ง อย่างเช่น สารประกอบจำพวกออกไซด์ ซัลไฟต์ หรือโพลิเมอร์ ซึ่งยังไม่แพร่หลายมากนัก ส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีกี่ชนิด

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนยังสามารถแบ่งชนิดแยกย่อยตามวัสดุของขั้วแคโทดได้อีก โดยหลักๆ จะประกอบไปด้วย

  • แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LiFePO4 หรือ LFP) คือแบตเตอรี่ที่ใช้วัสดุของขั้วแคโทดเป็นลิเธียมไอออนฟอสเฟต มีจุดเด่นคือมีอายุการใช้งานยาวนาน มีความปลอดภัยสูง และจ่ายกำลังไฟได้สูง แต่มีจุดด้อยคือมักจะมีน้ำหนักมากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชนิดอื่นที่ความจุพลังงานเท่ากัน โดยจะนิยมใช้ในอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน ฯลฯ
  • แบตเตอรี่ลิเธียมโคบอลต์ออกไซด์ (LiCoO2 หรือ LCO) คือแบตเตอรี่ที่ใช้วัสดุของขั้วแคโทดเป็นลิเธียมโคบอลต์ออกไซด์ มีจุดเด่นคือมีความหนาแน่นของพลังงานสูง แต่มีจุดด้อยคือมีอายุการใช้งานและความเสถียรเมื่อเจอความร้อนค่อนข้างน้อย และไม่เหมาะกับการจ่ายไฟกำลังสูงๆ โดยจะนิยมใช้ในมือถือ แท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ค และอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ใกล้เคียงอื่นๆ
  • แบตเตอรี่ลิเธียมแมงกานีสออกไซด์ (LiMn2O4 หรือ LMO) คือแบตเตอรี่ที่ใช้วัสดุของขั้วแคโทดเป็นลิเธียมแมงกานีสออกไซด์ มีจุดเด่นคือจ่ายกำลังไฟได้สูงและทนความร้อนได้ค่อนข้างดี แต่มีจุดด้อยคือมีอายุการใช้งานสั้น โดยมักใช้ในเครื่องมือไฟฟ้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ และยานยนต์ไฟฟ้า
  • แบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (LiNiMnCoO2 หรือ NMC) คือแบตเตอรี่ที่ใช้วัสดุของขั้วแคโทดเป็นลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ มีจุดเด่นคือมีความหนาแน่นของพลังงานสูง จ่ายไฟกำลังสูงได้ดี และมีอายุการใช้งานยาวนาน โดยมักถูกใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน
  • แบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลโคบอลต์อลูมิเนียมออกไซด์ (LiNiCoAlO2 หรือ NCA) คือแบตเตอรี่ที่ใช้วัสดุของขั้วแคโทดเป็นลิเธียมนิกเกิลโคบอลต์อลูมิเนียมออกไซด์ มีจุดเด่นคือมีความหนาแน่นของพลังงานสูงและจ่ายไฟกำลังสูงได้ดี แต่มีจุดด้อยคือมีความปลอดภัยน้อยกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชนิดอื่นและมีราคาค่อนข้างแพง โดยนิยมใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน
  • แบตเตอรี่ลิเธียมไททาเนต (Li4Ti5O12 หรือ LTO) คือแบตเตอรี่ที่ใช้วัสดุของขั้วแคโทดเป็นลิเธียมแมงกานีสออกไซด์หรือลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ ส่วนขั้วแอโนดจะใช้เป็นลิเธียมไททาเนต (แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชนิดอื่นๆ มักจะใช้ขั้วแอโนดเป็นแกรไฟต์) มีจุดเด่นคือชาร์จเร็ว มีอายุการใช้งานยาวนาน มีช่วงอุณหภูมิการทำงานที่กว้าง และมีความปลอดภัยสูง แต่มีจุดด้อยคือมีราคาแพงและมีความหนาแน่นของพลังงานน้อยกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชนิดอื่นๆ โดยนิยมใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน อุปกรณ์ด้านการทหาร ฯลฯ

หลักการทำงานของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะมีหลักการทำงานคล้ายกันกับแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้

การชาร์จแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

ไอออนลิเธียมจะอยู่ในขั้วแคโทดสำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่พลังงานหมด ซึ่งเมื่อทำการชาร์จ ไอออนลิเธียมก็จะเคลื่อนตัวไปยังขั้วแอโนด ในขณะที่อิเล็กตรอนก็จะเคลื่อนที่ผ่านวงจรภายนอกโดยอาศัยแรงดันไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟ

การใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

ไอออนลิเธียมจะอยู่ในขั้วแอโนดสำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ถูกชาร์จจนเต็ม ซึ่งเมื่อเกิดการจ่ายกระแสไฟ ไอออนลิเธียมก็จะเคลื่อนตัวไปยังขั้วแคโทด ในขณะที่อิเล็กตรอนก็จะเคลื่อนที่ผ่านวงจรภายนอกและถูกนำไปใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า

ข้อดีของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

สาเหตุที่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนได้รับความนิยมสูงในปัจจุบันก็เนื่องด้วยข้อดีต่างๆ ดังนี้

  • มีความหนาแน่นของพลังงานสูง เนื่องด้วยลิเธียมมีน้ำหนักโมเลกุลน้อยและมีขนาดเล็ก เมื่อนำมาใช้ในแบตเตอรี่จึงทำให้มีความหนาแน่นของพลังงานสูง ส่งผลให้สามารถกักเก็บพลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ เมื่อเทียบที่น้ำหนักและปริมาตรเท่ากัน
  • มีน้ำหนักเบา จากความหนาแน่นของพลังงานที่สูง ทั่วไปแล้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจึงมีน้ำหนักเบากว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ
  • มีอายุการใช้งานยาวนาน แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าแบตเตอรี่ประเภทอื่น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของแบตเตอรี่ เช่น แบตเตอรี่ลิเธียมโคบอลต์ออกไซด์ทั่วไปจะมี Cycle Life อยู่ในช่วง 500-1,000 รอบ ส่วนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต จะมี Cycle Life สูงถึง 2,000-10,000 รอบ เป็นต้น
  • ชาร์จเร็ว ขนาดที่เล็กของลิเธียมยังมีส่วนช่วยให้สามารถเคลื่อนย้ายจากขั้วแคโทดไปยังขั้วแอโนดขณะชาร์จได้เร็ว จึงมีผลช่วยลดระยะเวลาการชาร์จ
  • มีการคายประจุด้วยตัวเองต่ำ ทั่วไปแล้วแบตเตอรี่แม้ไม่ได้ถูกใช้งานก็จะค่อยๆ สูญเสียพลังงานอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าการคายประจุด้วยตัวเอง (Self-Discharge) ซึ่งแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนก็จะมีข้อได้เปรียบตรงที่มีอัตราการคายประจุด้วยตัวเองต่ำกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ

ข้อเสียของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน

อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนก็จะมีข้อเสียและข้อจำกัด เช่น

  • ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนก็จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขั้นตอนกระบวนการผลิตต่างๆ อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะมีข้อได้เปรียบในแง่ของความสามารถในการรีไซเคิล และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน จึงทำให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า (แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมักถูกใช้ในระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่หรือที่เรียกว่า BESS ซึ่งนิยมใช้ในการกักเก็บไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ฯลฯ)
  • มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยหากขาดการดูแลหรือใช้งานไม่เหมาะสม เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ชนิดอื่นและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนก็จะมีความเสี่ยงในเรื่องของไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งอาจนำไปสู่เหตุไฟไหม้ได้ หากขาดความใส่ใจในเรื่องมาตรฐานและการดูแลและใช้งานอย่างเหมาะสม
  • มีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่บางชนิด หากเปรียบเทียบกันแล้ว แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะมีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น เช่น แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด และแบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียม แต่ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องด้วยข้อได้เปรียบหลายประการซึ่งไม่สามารถทดแทนกันได้

คำถามที่พบบ่อย

นอกจากข้อมูลหลักๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีคำถามต่างๆ ที่พบบ่อยเกี่ยวกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนอีกดังนี้

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีอายุการใช้งานนานเท่าไร

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีอายุการใช้งานกี่ปีนั้นไม่อาจตอบได้ตรงๆ เนื่องจากจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน พฤติกรรมการชาร์จ การดูแลเรื่องอุณหภูมิ ตลอดจนปริมาณการใช้งาน แต่ทั่วไปแล้ว แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น มือถือและโน๊ตบุ๊ค ส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งานอยู่ในช่วง 2-5 ปี ส่วนในอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีระบบซับซ้อน เช่น ระบบ BESS ก็จะมีอายุการใช้งานที่นานกว่า ส่วนใหญ่จะมากกว่า 15 ปี

อ่านเพิ่มเติม : แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน มีอายุการใช้งานกี่ปี ยืดอายุได้อย่างไรบ้าง

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนอันตรายไหม

โดยทั่วไปแล้ว แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง โดยข้อมูลจาก The Faraday Institution ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในประเทศอังกฤษได้ระบุว่า อัตราการเกิดการบกพร่องของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่นำไปสู่เหตุไฟไหม้หรือระเบิด ประมาณการแล้วจะอยู่ในช่วงเพียงระหว่าง 1 ใน 10 ล้านเซลล์ และ 1 ใน 40 ล้านเซลล์

อย่างไรก็ตาม การดูแลและใช้งานอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการเลือกใช้เฉพาะแบตเตอรี่ อุปกรณ์ชาร์จ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความใส่ใจสำหรับทุกๆ คน เพราะหากบกพร่องก็เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดอันตรายได้

อ่านเพิ่มเติม : แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนไฟไหม้-ระเบิด เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไร

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชาร์จไม่เข้า เกิดจากอะไร

ปัญหาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชาร์จไม่เข้าจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สายชาร์จชำรุด แบตเตอรี่ชำรุด แรงดันไฟฟ้าของระบบชาร์จไม่เหมาะสม ระบบความปลอดภัยตัดการชาร์จ (เช่น กรณีที่อุณหภูมิต่ำเกินไปหรือเกิดกระแสไฟเกิน) เป็นต้น ซึ่งในกรณีที่ไม่อาจระบุสาเหตุและแก้ไขเบื้องต้นอย่างปลอดภัยได้ด้วยตัวเอง ก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีแก้ที่เหมาะสม

ศัพท์เทคนิคที่ควรรู้เกี่ยวกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีอะไรบ้าง

ตัวอย่างศัพท์เทคนิคเกี่ยวกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่พบบ่อยนอกเหนือจากที่กล่าวมาก็อย่างเช่น

  • State of Charge (SoC) คือระดับพลังงานที่คงเหลืออยู่ในแบตเตอรี่ ทั่วไปจะแสดงค่าเป็นเปอร์เซ็นต์เริ่มตั้งแต่ 0% (พลังงานหมด) จนถึง 100% (พลังงานเต็ม)
  • State of Health (SoH) คือค่าที่บ่งบอกว่าแบตเตอรี่เสื่อมสภาพไปมากน้อยเพียงใด โดยจะเทียบความจุพลังงานกับตอนที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน (ทั่วไปแล้วแบตเตอรี่จะมีค่าความจุพลังงานน้อยลงเรื่อยๆ ตามปริมาณรอบที่ชาร์จและใช้งาน) เช่น SoH 100% คือแบตเตอรี่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีค่าความจุพลังงานตามสเปคที่ระบุ ส่วน SoH 80% คือแบตเตอรี่เสื่อมลงจนเหลือค่าความจุพลังงานเพียง 80%
  • Depth of Discharge (DoD) คือค่าที่บ่งบอกว่าแบตเตอรี่ถูกใช้พลังงานไปมากน้อยเพียงใด หรือก็คือเป็นค่าตรงข้ามของค่า SoC เช่น ค่า DoD 100% คือแบตเตอรี่ที่พลังงานหมด (เทียบได้กับ SoC 0%) ส่วนค่า DoD 0% คือแบตเตอรี่ที่มีพลังงานเต็ม (เทียบได้กับ SoC 100%)
  • Round Trip Efficiency (RTE) คือค่าอัตราส่วนระหว่างพลังงานออกและพลังงานเข้าภายในรอบการชาร์จและใช้งาน ใช้บ่งบอกถึงประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ว่าในการชาร์จและใช้งานจะเกิดการสูญเสียพลังงานไปมากน้อยเพียงใด ตัวอย่างเช่น RTE 100% เป็นค่าในอุดมคติ แปลว่าแบตเตอรี่นี้ไม่เกิดการสูญเสียพลังงานเลย ส่วน RTE 80% แปลว่าชาร์จพลังงานมา 100% แต่จ่ายออกไปจริงเพียง 80% ซึ่งก็คือเกิดการสูญเสียพลังงาน 20%
  • C Rate คือค่าอัตราอ้างอิงสำหรับการชาร์จหรือคายประจุของแบตเตอรี่ โดย 1C จะหมายถึงปริมาณกระแสไฟที่ใช้ในการชาร์จหรือคายประจุให้เต็ม/หมดภายใน 1 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น แบตเตอรี่ขนาด 1,000 mAh ที่ 1C จะใช้กระแสไฟ 1,000 mA โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง ถ้าเป็น 2C จะใช้กระแสไฟ 2,000 mA โดยใช้เวลาครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าเป็น 0.5C จะใช้กระแสไฟ 500 mA โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง ค่า C Rate จะมีความสำคัญสำหรับระบบ BESS โดยผู้ผลิตมักจะกำหนดค่า C Rate ที่แนะนำไว้ (มักจะเป็นค่าต่ำๆ ) เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานและป้องกันปัญหาความร้อนเกิน
  • Thermal Runaway คือการที่อุณหภูมิของแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินการควบคุม ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่เหตุไฟไหม้หรือระเบิด ทั่วไปจะเกิดจากความเสียหาย 3 รูปแบบ ได้แก่ ความเสียหายเชิงกล เชิงไฟฟ้า และเชิงความร้อน เช่น แบตเตอรี่ถูกบีบอัดหรือเจาะทะลุ มีการชาร์จไฟหรือจ่ายไฟเกิน โดนความร้อนสูงจนเกิดความเสียหาย เป็นต้น

GMS Solar ผู้จัดจำหน่าย BESS ชั้นนำในไทย

BESS (Battery Energy Storage System) เป็นเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ในสเกลใหญ่ซึ่งได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน สามารถใช้กักเก็บไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ฯลฯ ใช้เพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าทั่วไป เช่น เก็บสำรองไฟไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือยามที่มีความต้องการสูง หรือใช้ลดค่าไฟจาก Demand Charge ในอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก

เพื่อช่วยผลักดันเทคโนโลยี BESS ของไทยให้ก้าวหน้ารวดเร็วยิ่งขึ้น GMS Solar จึงได้จับมือกับ REPT Battero ซึ่งเป็นผู้นำ BESS ระดับ Top 3 ของโลกจากประเทศจีน ในฐานะของ Distributor เพียงเจ้าเดียวในไทย

REPT Battero เป็นบริษัทผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีขีดความสามารถในด้าน R&D สูง มีเหมืองตั้งแต่ต้นน้ำของตัวเอง ทั้งยังมีจุดเด่นต่างๆ อีกมากมาย เช่น

  • ได้รับการยอมรับให้อยู่ใน BloombergNEF’s Tier 1 Energy Storage Manufacturers List 2024
  • ได้รับใบประกาศรับรองคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลมากมาย อาทิ UL 1973, IEC 62619, UN 38.3, NFPA 855, IEC 62477, UL9540A เป็นต้น
  • มีเทคโนโลยี Wending Battery ที่เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณความจุและอายุการใช้งานแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น สามารถมี Cycle Life ได้มากถึง 8,000-10,000 รอบ ส่งผลใช้งานได้ยาวนานถึง 20 ปี
  • ได้ส่งมอบ BESS ให้กับโครงการสำคัญมากมาย เช่น โครงการ 1,680 MWh Waratah Super Battery ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย โครงการ 226 MWh St Gall Battery Energy Storage System ที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

เมื่อเทคโนโลยี BESS ที่ล้ำสมัยของ REPT Battero ได้ผนวกรวมกับความเชี่ยวชาญของ GMS Solar ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ GMS Interneer ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมพลังงานมากว่า 20 ปี จึงเกิดเป็นโซลูชั่น BESS ที่มีคุณภาพสูง ครอบคลุมทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ พร้อมที่จะส่งมอบให้กับทุกโครงการสำคัญของคุณ

You may also like