สายไฟโซลาร์เซลล์มีกี่แบบ เลือกซื้ออย่างไรให้เหมาะสม

by GMS Solar

โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ต้องใช้ควบคู่กับ “สายไฟโซลาร์เซลล์ (Solar Cable หรือ PV Cable)” ไม่สามารถใช้สายไฟทั่วไปแทนได้ ซึ่งในการเลือกซื้อนั้นก็จะต้องพิจารณาถึงคุณลักษณะสำคัญต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น ชนิดวัสดุ ขนาด และความยาว ทั้งนี้ก็เพื่อให้โซลาร์เซลล์สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย

สายไฟโซลาร์เซลล์ต่างจากสายไฟทั่วไปอย่างไร

หลักๆ แล้ว สายไฟโซลาร์เซลล์จะต่างจากสายไฟทั่วไปตรงที่ใช้วัสดุฉนวนและปลอกหุ้มที่มีความทนทานสูงกว่า ทั้งในแง่ของการทนความชื้น ความร้อน แสงแดด และการติดไฟ เพราะมักใช้ในพื้นที่กลางแจ้ง ตัวอย่างวัสดุก็อย่างเช่น Cross-Linked Polyethylene (XLPE) และ Cross-linked Polyolefin (XLPO) ในขณะที่สายไฟทั่วไปมักใช้วัสดุฉนวนและปลอกหุ้มเป็น Polyvinyl Chloride (PVC)

สายไฟโซลาร์เซลล์มีกี่แบบ

สายไฟโซลาร์เซลล์จะมีหลายรูปแบบ โดยสามารถแบ่งตามคุณลักษณะต่างๆ ได้ดังนี้

สายไฟ DC กับสายไฟ AC

สายไฟโซลาร์เซลล์จะแบ่งตามทิศทางการไหลของกระแสไฟฟ้าได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่

  1. สายไฟ DC คือสายไฟชนิดกระแสตรง (DC ย่อมาจาก Direct Current) ไฟฟ้าจะเคลื่อนผ่านได้ทางเดียว มักใช้เชื่อมต่อระหว่างแผงโซลาร์เซลล์ด้วยกันเอง และระหว่างแผงโซลาร์เซลล์กับ Inverter เพราะการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์โดยธรรมชาติแล้วจะได้กระแสไฟชนิดกระแสตรง
  2. สายไฟ AC คือสายไฟชนิดกระแสสลับ (AC ย่อมาจาก Alternating Current) ไฟฟ้าจะเคลื่อนผ่านได้ทั้ง 2 ทิศทาง มักใช้เชื่อมต่อระหว่าง Inverter และระบบโครงข่ายไฟฟ้าภายนอก เพราะสามารถปรับเพิ่มลดแรงดันไฟฟ้าได้ง่ายกว่า ซึ่งการปรับเพิ่มแรงดันไฟฟ้าก็จะช่วยลดการสูญเสียไฟฟ้าจากการเคลื่อนผ่านในระยะไกลได้ อีกทั้งยังเป็นกระแสไฟชนิดเดียวกับที่ใช้ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าทั่วไป

สายไฟแบบ Stranded กับแบบ Solid

สายไฟโซลาร์เซลล์จะแบ่งตามการตีเกลียวของวัสดุตัวนำไฟฟ้าได้เป็น 2 แบบ คือ

  1. สายไฟแบบ Stranded คือสายไฟที่ใช้ลวดตัวนำขนาดเล็กหลายเส้นมาพันรวมกันเป็นเกลียว แล้วค่อยหุ้มด้วยฉนวนและปลอกหุ้ม มีจุดเด่นเมื่อเทียบกับสายไฟแบบ Solid คือมีความยืดหยุ่น การทนต่อความเคลื่อนไหว และการนำไฟฟ้าที่ดีกว่า แต่ก็มีข้อเสียคือมีเส้นรอบวงใหญ่และมีราคาแพงกว่า โดยจะเหมาะสำหรับงานติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่หรืองานติดตั้งที่ต้องอาศัยความยืดหยุ่นสูง
  2. สายไฟแบบ Solid คือสายไฟที่ใช้ลวดตัวนำแค่เส้นเดียว มีจุดเด่นคือมีเส้นรอบวงขนาดเล็กและมีราคาถูกกว่า แต่ก็จะมีสเปคที่จำกัดกว่า มักใช้สำหรับงานติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก

วัสดุตัวนำไฟฟ้า

ในส่วนของวัสดุตัวนำไฟฟ้าของสายไฟโซลาร์เซลล์ ก็จะมีที่นิยมใช้อยู่ 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่

  1. ทองแดง (Copper) เป็นวัสดุตัวนำไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีคุณสมบัตินำไฟฟ้าได้ดี มีความยืดหยุ่นสูง ทั้งยังทนต่อความร้อนและการกัดกร่อน โดยมักชุบด้วยดีบุกเพื่อเสริมความทนทานให้ดียิ่งขึ้น
  2. อลูมิเนียม (Aluminium) เป็นวัสดุตัวนำไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าทองแดง เนื่องจากนำไฟฟ้าได้แย่กว่า และมีความทนทานน้อยกว่า แต่ก็มีข้อดีตรงที่มีน้ำหนักน้อยและมีความยืดหยุ่นสูงกว่า อีกทั้งมักจะมีราคาถูกกว่า

วัสดุฉนวนและปลอกหุ้ม

นอกจากนี้แล้ว สายไฟโซลาร์เซลล์ก็ยังสามารถแบ่งชนิดตามวัสดุฉนวนและปลอกหุ้มได้อีก เช่น

  1. Cross-Linked Polyethylene (XLPE) เป็นวัสดุฉนวนและปลอกหุ้มที่ทนต่อความร้อน ความชื้น และสารเคมีได้ดี เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับงานติดตั้งที่ต้องอาศัยการทนอุณหภูมิสูงและอาจต้องเจอกับสารเคมีต่างๆ
  2. Cross-linked Polyolefin (XLPO) เป็นวัสดุฉนวนและปลอกหุ้มที่ทนต่อความร้อนและแสงยูวีได้ดี ทั้งยังมีความยืดหยุ่นสูง เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับงานติดตั้งบริเวณกลางแจ้ง
  3. Polyvinyl Chloride (PVC) นอกจากสายไฟทั่วไปแล้ว PVC ก็อาจสามารถใช้เป็นวัสดุฉนวนและปลอกหุ้มสำหรับสายไฟโซลาร์เซลล์ได้ด้วยเช่นกัน แต่จะมีความทนทานและขอบเขตการใช้งานที่จำกัด ส่วนใหญ่จะใช้กับงานติดตั้งในพื้นที่ร่มที่มีสภาวะแวดล้อมค่อนข้างคงที่และไม่รุนแรง

ความยาวของสายไฟโซลาร์เซลล์

การกำหนดความยาวของสายไฟโซลาร์เซลล์จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ได้แก่

  • ระยะห่างระหว่างแต่ละอุปกรณ์ ซึ่งก็คือแผงโซลาร์เซลล์ เครื่องควบคุมการชาร์จ Inverter และแบตเตอรี่ โดยจะต้องวัดระยะห่างระหว่างแต่ละอุปกรณ์ที่จะต่อสายไฟเข้าด้วยกัน และคิดเพิ่มเผื่อการโค้งงอของสายและสิ่งกีดขวางต่างๆ
  • การสูญเสียแรงดันไฟฟ้า สายไฟยิ่งยาวก็จะยิ่งสูญเสียแรงดันไฟฟ้ามาก เนื่องจากเกิดแรงต้านทานเพิ่มขึ้น การกำหนดความยาวของสายไฟจึงต้องพิจารณาในจุดนี้ด้วย ซึ่งทั่วไปไม่ควรมีการสูญเสียแรงดันไฟฟ้าเกิน 3%
  • แรงดันไฟฟ้าของระบบ ทั่วไปจะมีอยู่ 3 ค่า ได้แก่ 12V, 24V และ 48V ซึ่งยิ่งค่ามากก็จะยิ่งสามารถใช้สายไฟที่ยาวขึ้นได้
  • พิกัดกระแสของสายไฟฟ้า หรือ “Current Capacity” คือกระแสไฟฟ้าสูงสุดที่สายไฟสามารถรับได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ทำให้เกินอุณหภูมิที่กำหนด ยิ่งสายไฟยาวค่านี้ก็จะยิ่งลดลง
  • ขนาดของสายไฟ ยิ่งสายไฟมีเส้นรอบวงใหญ่ ก็จะยิ่งรองรับความยาวได้มากขึ้น ซึ่งที่นิยมใช้กันในกรณีทั่วไปจะมีอยู่ 3 ขนาด ได้แก่ 4 mm2, 6 mm2 และ 10 mm2

ซึ่งก็ควรอยู่ภายใต้คำปรึกษาและการดูแลควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับระบบโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้ง

การเลือกซื้อสายไฟโซลาร์เซลล์

การเลือกซื้อสายไฟโซลาร์เซลล์ให้เหมาะสมกับการใช้งานก็ควรพิจารณาให้ครอบคลุมปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • ความทนทานต่อสภาพแวดล้อม สายไฟโซลาร์เซลล์หากติดตั้งกลางแจ้งก็จะต้องทนความร้อน แสงยูวี ลม ฝน และความชื้นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสายไฟประเภทนี้มักใช้วัสดุฉนวนและปลอกหุ้มเป็น Cross-Linked Polyethylene (XLPE) หรือ Cross-linked Polyolefin (XLPO)
  • แรงดันไฟฟ้าที่รองรับ ต้องเลือกสายไฟที่รองรับแรงดันไฟฟ้าของระบบได้อย่างเพียงพอ ควรทนแรงดันได้อย่างน้อย 600V สำหรับระบบทั่วไป หรือ 1,000V-2,000V สำหรับระบบขนาดใหญ่
  • ชนิดของสายไฟ ควรเลือกชนิดของสายไฟให้เหมาะสมกับงานติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็น DC/AC หรือ Stranded/Solid
  • ขนาดสายไฟ ต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมกับกระแสไฟฟ้าและระยะทางที่ติดตั้ง โดยควรผ่านการคำนวณโดยผู้เชี่ยวชาญ และควรเผื่อขนาดให้ใหญ่กว่าที่คำนวณได้ประมาณหนึ่ง
  • ความยาวสายไฟ ควรเลือกความยาวให้สามารถรองรับระยะทางระหว่างอุปกรณ์แต่ละชิ้นส่วนได้อย่างเพียงพอ แต่ในการติดตั้งก็ต้องดูแลไม่ให้ยาวเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียแรงดันไฟฟ้าที่มากเกินพอดี
  • ความยืดหยุ่นของสายไฟ สายไฟโซลาร์เซลล์ที่ดีควรมีความยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับการติดตั้งและการบำรุงรักษา ไม่แข็งเกินไปจนยากต่อการจัดการ แต่ก็ต้องแข็งแรงพอที่จะทนต่อแรงดึงและการบิดงอได้
  • มาตรฐานการรับรอง สายไฟโซลาร์เซลล์ที่ดีควรได้รับการรับรองมาตรฐานอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจถึงคุณภาพและความปลอดภัย

บทสรุป

สายไฟโซลาร์เซลล์สามารถแบ่งได้เป็นหลายชนิดตามแต่เกณฑ์ที่ใช้ เช่น สายไฟชนิดกระแสตรง (DC) หรือกระแสสลับ (AC) สายไฟแบบลวดตัวนำหลายเส้นพันเกลียว (Stranded) หรือแบบลวดตัวนำเส้นเดียว (Solid) สายไฟที่ใช้ลวดตัวนำเป็นทองแดงหรืออลูมิเนียม ตลอดจนสายไฟที่ใช้วัสดุฉนวนและปลอกหุ้มเป็น XLPE, XLPO หรือ PVC

ซึ่งการเลือกซื้อสายไฟโซลาร์เซลล์ให้เหมาะสมนั้น ก็จะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญต่างๆ อย่างครอบคลุม ได้แก่ ชนิด ความทนทานต่อสภาพแวดล้อม (เช่น อุณหภูมิ แสงยูวี ความชื้น ลม ฯลฯ) แรงดันไฟฟ้าที่รองรับ ความยาว ขนาด ความยืดหยุ่น รวมถึงมาตรฐานการรับรองที่ได้รับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้โซลาร์เซลล์สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย

GMS Solar ผู้จัดจำหน่ายสายไฟโซลาร์เซลล์สำหรับงานโครงการ

GMS Solar เป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ด้านพลังงานสะอาดสำหรับงานโครงการ เช่น สายไฟโซลาร์เซลล์ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ฯลฯ โดยเป็นบริษัทในเครือ GMS Interneer ซึ่งมีประวัติการดำเนินงานในอุตสาหกรรมพลังงานมากว่า 20 ปี

ด้วยจุดเด่นที่ครอบคลุมของสายไฟโซลาร์เซลล์ ZTT Cable ที่จำหน่ายโดย GMS Solar เช่น

  • มีคุณภาพสูง เป็นสายไฟแบบ Stranded ชนิดกระแสตรง (DC) ที่ผลิตจากทองแดงเคลือบดีบุก ใช้วัสดุฉนวนและปลอกหุ้มเป็น XLPO และ XLPE ซึ่งสามารถทนความร้อนและแสงยูวีได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้สามารถใช้ได้กับทั้งงานติดตั้งในร่มและกลางแจ้ง
  • มีความทนทานสูง สามารถทนต่อแสงยูวีรวมถึงอุณหภูมิและสภาพอากาศที่รุนแรง ผ่านการทดสอบการต้านการลุกลามของไฟ การทนต่อโอโซน ตลอดจนการทนต่อสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่าง
  • มีความทนต่อน้ำและความชื้น ผ่านการทดสอบ Water Resistance ตามมาตรฐาน 2PfG 2750/09.20 ทำให้สามารถใช้ได้ครอบคลุมโครงการหลากหลายรูปแบบ ทั้ง Solar Farm และ Solar Roof
  • มีมาตรฐานรองรับ ผ่านการทดสอบและรับรองโดย TÜV Rheinland ตามข้อกำหนดมาตรฐาน EN 50618:2014 ซึ่งเป็นมาตรฐานของทางยุโรปสำหรับสายไฟโซลาร์เซลล์ที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ทั้งยังมีรายงานผลการทดสอบในทุก Lot การผลิต จึงช่วยให้สามารถมั่นใจในคุณภาพได้อย่างเต็มที่

เมื่อผนวกกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการอย่างมืออาชีพ จึงเกิดเป็นโซลูชั่นด้านสายไฟโซลาร์เซลล์ที่มีคุณภาพสูง ครบถ้วนทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ พร้อมที่จะส่งมอบให้กับทุกโครงการสำคัญของคุณ

You may also like